วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การตรวจสอบวันทำการอย่างง่าย

การตรวจสอบวันทำการอย่างง่าย...นายสอบตก
                      

ในการหาฤกษ์หายามเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นขึ้นบ้านใหม่  แต่งงาน ฯลฯ  จำเป็นต้องดูทั้ง ดิถี-ฤกษ์-ยาม ให้ครบถ้วนกระบวนความ  ทั้งนี้ควรดูประกอบกับดวงชะตาของเจ้าของงานเป็นหลัก   

 มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า    "ผมหาฤกษ์สุดยอดให้คุณแล้ว  แต่คุณไม่มีวาสนาเพียงพอที่จะใช้ฤกษ์วิเศษที่ผมหาให้ได้ " หรือ  ในกรณีที่ไม่ทราบดวงชะตาของเจ้าของงาน  โหรมักจะเลี่ยงไม่ให้ฤกษ์หรือให้ไปเปิดดูปฏิทินโหร  เพื่อหาฤกษ์สะดวกกันเอาเองเป็นต้น

ทั่วๆไป  เมื่อโหรหาฤกษ์ทำการให้กับเจ้าของงาน ตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ในตำหรับตำราที่ร่ำเรียนมาแล้ว      มักพิจารณาเฉพาะ ดิถีที่เป็นศุภมงคลเพียงอย่างเดียว      โดยไม่แน่ใจว่า ใช่วันทำการที่เหมาะสมกับเจ้าของงานผู้นั้นหรือไม่  เพราะฤกษ์ที่หาได้นั้นไม่ได้คำนึงถึง อายุจรของเจ้าของงานเลย  แล้วแน่ใจหรือว่าเจ้าของงานนั้นจะมีโอกาสได้ใช้ฤกษ์ที่หาให้




การตรวจสอบวันทำการหรือฤกษ์อย่างง่ายๆ ที่นำมาเสนอนี้  ใช้หลักการอ่านวัยจร จากยามที่มาขอฤกษ์
ของวิชาเลข ๗ ตัว หรือทักษา หรือใช้ร่วมกันทั้งสองแบบ   ในที่นี้จะใช้ร่วมกันทั้งสองแบบตามตาราง



 เริ่มจาก ให้นับวันที่มาขอฤกษ์มงคลหรือฤกษ์ทำการเป็นวันที่ ๑  เช่น มาขอฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน  สมมติว่าตรงกับข้างขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘  เวลา ๑๐.๐๐ น.   ก็ให้นับวันที่ ๑ เริ่มต้นตั้งแต่ ข้างขึ้น ๒ ค่ำ เวลา ๑๐.๐๐ น. ถึง ข้างขึ้น ๓ ค่ำ เวลา ๙.๕๙ น.   แล้วพิจารณาดูว่า ฤกษ์ที่หาให้นั้นห่างจากวันที่มาขอฤกษ์กี่วัน  แล้วเทียบกับตารางข้างบนนี้  ซึ่งจะต้องไม่ตก
 อริ- มรณะ หินะ กาลกิณี

ตารางข้างบนนี้เป็นตารางสำหรับเดือนแรก  ถ้าจะดูว่า ฤกษ์ทำการที่หาได้ในเดือนต่อๆไป จะเหมาะสมหรือไม่ ก็ให้เริ่มนับเดือนที่ ๒ ที่ กดุมภะ-อายุ เป็นวันแรก  แล้วไล่วันไปเรื่อยๆ เหมือนเดือนแรก    ถ้าเป็นเดือนที่ ๓ ก็เริ่มที่ สหัชชะ-เดช เป็นวันแรก  ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงวันทำการที่หาไว้

จากข้างบนนี้  จะสังเกตเห็นว่า ถ้าหาฤกษ์ได้ภายในเดือนแรก ไม่ควรจะเป็นวันที่ ๖ , ๘ , ๑๖ , ๒๔ , ๒๗ , ๒๙ ของวันที่มาขอฤกษ์  หรือถ้าฤกษ์ที่หาได้เป็นเดือนหน้า ก็ไม่ควรเป็นวันที่ ๕ , ๗, ๑๕ , ๒๓, ๒๖, ๒๘  ของวันที่มาขอฤกษ์  ทั้งนี้และทั้งนั้นการนับวันจรจะใช้ดิถีและเดือนทางจันทรคติเท่านั้น

สำหรับปีไหนที่มีเดือน ๘ สองหน  ให้นับเดือน ๘ และเดือน ๘๘ เป็นเดือนเดียวแต่มีดิถีหรือวันขยายเป็น ๖๐ วัน

ด้วยวิธีนี้ถ้ามีคู่หนุ่มสาวมาขอฤกษ์แต่งงานในอีก ห้า-หกเดือนข้างหน้า  ก็ตรวจดูคร่าวๆ ได้เลยว่า ในช่วงเดือนที่หกและเดือนที่แปดนับจากวันที่มาขอฤกษ์  ไม่เหมาะสำหรับการแต่งงาน เพราะเดือนจรไปตกที่ อริ-อุตสาหะ กับ มรณะ-กาลกิณี  นั่นเอง

หรือตัวอย่างหนึ่งคือ มีผู้มาขอฤกษ์เปิดร้านกับผู้เขียน  ซึ่งเมื่อผู้เขียนคำนวณหาฤกษ์ได้เรียบร้อยแล้ว  ถ้าตรวจสอบวันทำการตามวิธีการนี้  จะพบว่า เดือนที่ทำการตก กดุมภะ-อายุ  วันที่ทำการเปิดร้านตก ปัตนิ-มนตรี  หรือ หนึ่งเดือนหกวันนับจากวันที่มาขอฤกษ์กับผู้เขียน

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ศึกษาเรื่องฤกษ์ไม่มากก็น้อย   ...สวัสดี
สอบตก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น